วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

อาจาระที่ควรศึกษา

๑. การนุ่ง การห่ม ต้องให้เป็นปริมณฑล  คือมีความเรียบร้อยตามพระวินัย การนุ่งอันตรวาสก (สบง ) ต้องให้ปิดนาภี (สะดือ) ต่ำลงไปครึ่งแข้ง  หรือต่ำกว่าเข่า ๘ นิ้ว สูงกว่าสบงประมาณ ๔ นิ้ว ถ้าห่มม้วนลูกบวบต้องจัดชายผ้าให้เสมอกันจึงม้วนผ้า ไม่ควรรวบๆ ผ้าแล้วม้วน ชายผ้าจะแตก ห่มแล้วดูปุ้มป้ามไม่เรียบร้อย ไม่น่าดู
๒. การฉัน สมควรถวายข้าวพระพุทธเสียก่อน  เพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นธรรมเนียมมีมาตั้งแต่สมัยลังกาวงศ์ มีเรื่องปรากฏในคัมภีร์สารัตถสังคหะ  แล้วพิจารณาตังขณิกปัจจเวกขณะ ( ปฏิสงฺขาโย โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ ฯเปฯ ) ต้องศึกษาธรรมเนียมการฉันในเสขิยวัตรให้ถี่ถ้วน ในยุคปัจจุบันนี่นิยมใช้ช้อนกลาง ต้องใช้ช้อนกลางด้วย
๓. การรับประเคน  โดยทั่วไปควรรับสองมือ  เป็นการเพิ่มศรัทธาปสาทะแก่ผู้ถวาย เว้นแต่ของที่ถวายเป็นของเล็กไม่เหมาะที่จะรับสองมือ จึงควรรับมือเดียว ถ้าเป็นสุภาพสตรี ควรใช้ผ้ากราบรับต้องเตรียมผ้ากราบติดตัวไว้เสมอ
๔. การนั่ง จะนั่งในวัดก็ตาม ในบ้านก็ตาม ควรพยายามนั่งให้ตัวตรงไว้ งดงามดี
๕. การนั่งพับเพียบทุกกรณี ควนนั่งเก็บปลายเท้า
ไว้ข้างใน ให้หัวแม่เท้าม้วนเข้ามาใกล้กัน ต้องคอยระวังอย่าให้ปลายเท้ากางออกไป ไม่งดงาม
๖. การนั่งรับพระราชทานผ้ากฐิน  ต้องนั่งเข่าซ้ายทับปลายเท้าขวา  เรียกสั้นๆว่า ซ้ายทับขวา  เพราะจะช่วยเก็บปลายเท้าไม่ให้ยื่นออกไปข้างนอก  เมื่อทำพิธีสังฆกรรมสวดให้ผ้ากฐินจะไม่เห็นปลายเท้าในภายนอก งดงามดี
๗. หนวด เครา ต้องโกนทุกๆ ๓ วัน ถ้าปล่อยไว้เกิน ๓ วัน ดูไม่สมควร ทำให้หน้าตาเศร้าหมอง ในวันรับผ้าพระกฐินต้องโกนหนวดเครา ตัดเล็บ ให้สะอาดหมดจดด้วย
๘. สีจีวร ต้องเหมือนกันทุกรูป โดยเฉพาะเพื่อรักษาพระราชศรัทธา สมควรเป็นสีพระราชนิยม (เหลืองหม่น) และระวังอย่าให้มีกลิ่นเหม็นสาบ ราะเป็นกาเพรรบกวนผู้อื่น
๙. การนั่งประนมมือ ควรประนมให้นิ้วเสมอกัน และกระพุ่มมือเล็กน้อยให้มีลักษณะคล้ายดอกบัว วางมือในระหว่างอกพอดี  และระวังไว้ไม่ให้ลดต่ำลงไป
๑๐. การเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดพระพุทธมนต์ ควรนั่งตัวตรง  ทอดสายตาลงต่ำ ไม่เหลียวซ้ายแลขวา ส่ายหน้าไปมาตามความพอใจ หรือหงายหน้าทอดสายตาดูไกล
๑๑. ในการออกเสียงสวดมนต์ ต้องฟังเสียงหัวหน้าต้นเสียงใช้เสียงต่ำหรือเสียงสูง เร็วหรือช้า ถ้าต้นเสียงใช้เสียงสูงต้องสูงตาม ถ้าต่ำต้องต่ำตาม  ถ้าเร็วต้องเร็วตาม  ถ้าช้าต้องช้าตาม ต้องคอยระวังเสียงและจังหวะให้เสมอกัน ให้กลมกลืนกัน มิใช่ต่างรูปต่างว่า ไม่พร้อมกัน ไม่กลมกลืนกัน ผู้ฟังไม่สบายหู ไม่สบายใจ เกิดความรำคาญไม่ประสงค์จะฟัง เสื่อมศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส
๑๒. การเจริญการสวดพระพุทธมนต์  คณะมหานิกาย กำหนดแบบสังโยคเป็นหลัก คือหยุดที่ตัวสะกด หรือที่ตัวซ้อน คือ อก อัก อุก อด อัด อิด อุด อบ อับ อิบ อุบ  แม้ในอักษรอื่นก็เหมือนกัน รัสสะสระ คือ อะ อิ อุ เสียงสั้น ต้องออกเสียงสั้น  ทีฆะสระ คือ อา อี อู เอ โอ เสียงยาวต้องออกเสียงยาว อัฑฒะสระ ออกเสียงกึ่งมาตรา เช่น ยสฺมา  ยสฺมึ  ตสฺมา ตสฺมึ  ออกเสียงสระอะ เพียงนิดหน่อย  อย่าออกเสียงเต็มตัว เช่น ยัดสะมา ยัดสะมิง ตัสะมา ตัดสะมิง  แม้ในที่อื่นก็เช่นกัน
    ข้อสำคัญ ต้องฟังกัน มีความรู้สึกว่าจะสวดให้พร้อมกันและพยายามให้พร้อมกันโดยไม่สวดเร็วนัก ไม่ช้านัก อยูในประเภทสายกลาง ๆ เป็นพอดี กลัวผิด กลัวผลาด กลัวจะไม่เพราะเป็นสำคัญ
๑๓. ขณะเจริญหรือสวดพระพุทธมนต์ ไม่ดื่มน้ำ ไม่หยิบโน่นฉวยนี่ ตั้งสมาธิจิตในการสวดการเจริญ เว้นไว้แต่จำเป็น เช่น ไอ จาม เป็นต้น แม้จะมีเหงื่อก็หากระดาษหรือผ้าซับให้แห้งโดยเร็ว ไม่อ้อยอิ่งยืดยาด
๑๔. กล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล มีประกาศคณะสงฆ์ห้ามไว้แล้ว  เครื่องถ่ายวีดีโอ บันทึกภาพ โทรศัพท์มือถือ ไม่ควรใช้ ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป  เพราะเป็นของคฤหัสถ์หรือนักธุรกิจเขาใช้กัน พระภิกษุสามเณรที่ดีไม่ควรมี ไม่ควรใช้
๑๕. โทรศัพท์มือถือ  ไม่เหมาะสมแก่ภิกษุสามเณร  บางรูปมีใช้ประจำตัวนำไปใช้ในบ้าน ในวงอาหาร หรือตามถนนหนทาง ทั้งในวัดและในบ้าน ไม่น่าดูไม่งดงาม เสียสมณสารูป
๑๖. แว่นดำ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรสวม เว้นแต่ตาเจ็บหรือนายแพทย์สั่ง เพราะดูไม่เหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณร เวลาปลงผมใหม่ๆ ยิ่งไม่น่าดูมาก
๑๗. ฟันปลอม สำหรับผูใส่ฟันส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี  หรือทั้งล่างบนก็ดี เมื่อฉันเสร็จแล้วคงต้องชำระให้สะอาด เพราะรำคาญแต่ไม่สมควรชำระในวงฉันหรือในที่ฉันหลายรูป เพราะอาจเป็นที่รำคาญตาของผู้อื่น
๑๘. การนั่งรถยนต์ร่วมกับสตรี ( สตรีหลายคน พรุภิกษุรูปเดียว ) การนั่งรถยนต์โดยสตรีเป็นผู้ขับ (หนึ่งต่อหนึ่ง) จะด้วยเหตุใดก็ตาม เป็นการไม่สมควร เป็นโลกวัชชะ มีพระบัญญัติห้ามไว้แล้ว  ในการที่พระภิกษุเดินทางร่วมกับนางภิกษุณี
๑๙. การขับรถยนต์ด้วยตนเอง มิว่ากรณีใด ๆ ไม่สมควรเป็นโลกวัชชะ เป็นกิริยาอาการของคฤหัสถ์ผิดพระวินัย ผิดกฏหมายบ้านเมือง พระสังฆาธิการกระทำย่อมมีโทษผิดจริยาพระสังฆาธิการอีกทางหนึ่ง
๒๐. การนั่ง การนอนในที่ลับตา ( ไม่มีคนเห็น ) ในที่ลับหู ( คนอื่นไม่ได้ยินเสียง ) กับสตรีไม่สมควร เป็นโลกวัชชะ มีพระบัญญัติไว้แล้วว่าเป็นอนิยต  พระสังฆาธิการประพฤติย่อมมีโทษทางจริยาพระสังฆาธิการอีกทางหนึ่ง
๒๑. อย่าเชื่อคนง่าย อย่าเห็นแก่ได้ ปัจจุบันนี้มีพวกมิจฉาชีพเป็นจำนวนมากมาในรูปแบบต่างๆ กัน ในรูปนักบุญก็มี ในรูปนักบาปก็มี เจ้าอาวาสหลายวัดหลายแห่งเสียเงิน (จำนวนแสน) เสียชื่อเสียง เสียความประพฤติ ( ต้องสึก ) เสียชีวิต (ถูกฆ่า) ก็มี จึงสมควรระวังไว้อย่าเชื่ีอคนง่ายอย่าเห็นแก่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดเสียหายแก่วัดและพระศาสนา
( ต่อตอนหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น