วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๘, สิกขาบทที่ ๙

ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน  ต้องนิสสิคคิยปาจิตตีย์.
นิทานต้นบัญญัติ    เจ้าของบ้านที่พระอุปนันทะ  ศากยบุตร  เข้าไปฉันเป็นนิตย์  เตรียมเนื้อไว้ถวายในเวลาเช้า  แต่เด็กร้องไห้ขอกินในเวลากลางคืน  จึงให้เด็กกินไป  รุ่งเช้าจึงเอากหาปณะ ( เงินตรามีราคา ๔ บาท ) ถวาย  พระอุปนันทะก็รับ  มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบท  ห้ามภิกษุ  รับเอง  ใช้ให้รับทอง เงิน หรือ ยินดีทอง  เงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์  แก่ภิกษุผู้ละเมิด.
ลักษณะทองและเงิน    ทองและเงินนั้น  อันเขาทำเป็นรูปพรรณแล้วหรือมิได้ทำก็ตาม  ยังเป็นแท่งเป็นลิ่มอยู่ก็ตามเป็นรูปิยคือของสำหรับจ่ายก็ตามโดยที่สุดของไม่ใช่ทองและเงินแต่ใช้เป้นรูปิยได้เช่น  ธนบัตร  ก็นับว่าทองและเงิน  ในที่นี้.
วิธีสละทองและเงิน    ทองและเงิน  ที่สละแล้วตามสิกขาบทนี้  ท่านสอนว่า พึงบอกแก่อุบาสกผู้บังเอิญมาถึงเข้า  ถ้าเขาไม่เอา  พึงขอให้เขาช่วยทิ้ง  ถ้าเขาไม่รับ  พึงสมมติภิกษุเป็นผู้ทิ้ง  เลือกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ  ๕ อย่าง คือ ไม่ถึงอคติ ๔ และรู้จักว่าทำอย่างไร เป็นอันทิ้งหรือไม่  ภิกษุนั้นพึงทิ้งอย่าหมายที่ตก ถ้าหมายที่ตก ต้องทุกกฏ
วิธีปฏิบัติในทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน     อย่าถือเอากรรมสิทธิ์ในทองและเงินนั้น  แต่ถือเอากรรมสิทธิ์ในเป็นอันจะได้ของเป็นกัปปิยะ ( ของที่ควรบริโภคใช้สอย )
ลักษณะแห่งอาบัติ   อาบัติในสิกขาบทนี้  เป็นอจิตตกะ  แม้ไม่มีเจตนา  แต่ยินดีรับและเข้า คงไม่พ้นอาบัติ
คำเสียสละ    ทองและเงินอันเป็นนิสสัคคีย์นั้น  ท่านให้สละในสงฆ์  คำเสียสละว่า " อหํ  ภนฺเต  รูปิยํ  ปฏิคฺคเหสึ  อิทํ  เม  นิสฺสคฺคิยํ  อิมาหํ  สํฆสฺส  นิสฺสชฺชามิ"     แปลว่า  " ข้าพเจ้ารับรูปิยไว้แล้ว  ของนี้เป็นนิสสัคคีย์  ข้าพเจ้าขอสละ  รูปิยนี้แก้สงฆ์ "

สิกขาบทที่๙  ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ  คือ  ของที่เขา  ใช้เป็นทองและเงิน  ต้องนิสัคคียปาจิตตีย์.
นิทานต้นบัญญัติ   ฉัพพัคคีย์ (พวก ๖ ) ทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ ( ทอง เงิน หรือสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินที่กำหนดให้ใช้ได้ทั่งไปในที่นั้น ๆ )  มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนว่าทำเหมือนเป็นคฤหัสถ์  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงบัญญัติสิกขาบท  ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ  ทรงปรับอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์  แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.
อธิบาย    รูปิยะ  นั้น หมายถึงทองและเงิน  หรือของอื่น  อันใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยน.
ประโยชน์ของสิกขาบท  สิกขาบทนี้  มีประโยชน์ที่จะกันไม่ให้เอาทองและเงินที่เป็นนิสสัคคีย์  ในสิกขาบทก่อน  มาจ่ายซื่อกัปปิยบริขารและจ้างคนทำการ.
วิธีเสียสละ  การสละ  ท่านให้สละแก่สงฆ์เหมือนในสิกขาบทก่อนนั้น  และพึงเข้าใจว่าสิกขาบทที่ ๘,๙ นี้  ให้สละแก่สงฆ์เท่านั้น.
คำเสียสละว่าอย่างนี้  " อหํ  ภนฺเต  นานปฺปการกํ  รูปิยสํโวหารํ  สมาปชฺชิง  อิทํ  เม  อิมาหํ  สํฆสฺส  นิสสชฺชามิ "  แปลว่า  "  ข้าพเจ้าถึงการแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่าง ๆ ของนี้ของข้าพเจ้า  จะต้องสละ  ข้าพเจ้าขอสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์ "
ที่จ่ายเป็นค่าแรงคนทำการไปแล้ว  สละไม่ได้ก็พึงแสดงแต่อาบัติเท่านั้น.
คำจบเงินทำบุญ
ทรัพย์ของข้าพเจ้า  ได้มาโดยบริสุทธิ์   ขอบูชาพระพุทธ  บูชาพระธรรม  บูชาพระสงฆ์   จิตใจจำนง  ตรงต่อพระนิพพาน  ขอให้ถึงเมืองแก้ว  ขอให้แคล้วบ่วงมาร  ขอให้พบพระศรีอาริย์  ในอนาคตกาลนั้น  เทอญ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น